แม้สังขารจะร่วงโรยจนทำอะไรไม่ไหวแล้ว แต่ "2 ตายาย" นายบุญและนางทิพย์แก้ว ผาทอง ก็ยังหยุดพักไม่ได้ ยิ่งในสภาพเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ ทั้งตาและยายก็ยิ่งต้องปากกัดตีนถีบ หาเลี้ยงตนเองรวมทั้งลูกและหลานรวม 4 ชีวิต
ปลาตะเพียนสานจากใบลานตัวจ้อยราคาตัวละ 10 บาท ถูกปักเรียงรายบนโฟมเก่าๆ วางอยู่บนพื้นถนนในตลาดนัดสวนจตุจักร ตานั่งอยู่ข้างๆ กับยาย ทั้งคู่ดูเหมือนไม่ได้มานั่งขายของ เพราะอาการที่นั่งเฉยๆ ช่างผิดกับวิสัยพ่อค้าแม่ค้าทั่วไปที่มักตะโกนร้องเรียกลูกค้าให้มาซื้อของของตน
"เรารู้ว่าของของเราไม่ดี ก็แล้วแต่เขาจะช่วยเท่านั้น เพราะเราก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรขาย ใครที่มาซื้อก็นับว่าเป็นบุญคุณแล้ว" ยายทิพย์แก้ว อายุ 83 ปี เล่าช้าๆ ซึ่งตอนนั้นเองก็มีวัยรุ่นผู้หญิงคนหนึ่งมาซื้อปลาตะเพียนไป 1 ตัว
ทั้ง 2 ตายายเป็นคนยโสธรที่เข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ โดยก่อนหน้านี้ ตาทำอาชีพขับรถรับจ้าง ในขณะที่ยายก็ขายของเล็กน้อยๆ ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 6 คน ขณะนี้ลูกๆ ย้ายไปมีครอบครัวกันหมดแล้ว เหลือเพียงลูกชายคนเดียวที่ยังอยู่ด้วยกัน เพราะป่วยเป็นอัมพฤกษ์ช่วยเหลือตัวเองได้นิดหน่อย กับหลานอีกหนึ่งคน
"รายได้ที่ได้มาก็พอประทังชีวิตไปวันๆ เรา 3-4 คน" ตาบุญ วัย 87 ปีเล่า ก่อนจะบอกว่า ตนและยายอยู่ด้วยกันอย่างพอเพียง แม้จะมีลูกแต่ก็ไม่อยากรบกวน เพราะลูกก็ต้องกินต้องใช้ ไหนจะส่งลูกเรียนหนังสือ ไหนจะใช้ใช้จ่ายประจำวัน ทุกวันนี้เช่าห้องอยู่หลังวัดไผ่ตัน สะพานควาย เดือนละ 1,500 บาท เงินที่ได้จากขายปลาตะเพียนก็เอามาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ซื้อกับข้าวกับปลามากิน และเจียดเงินเล็กๆ น้อยๆ มาเก็บเอาไว้บ้าง เพื่อนำไปรักษาตัวให้ลูกชายที่เป็นอัมพฤกษ์ และยายที่มีโรครุมเร้าหลายโรค ทั้งตาข้างขวากำลังจะบอด หูที่ไม่ค่อยได้ยินแล้ว คออักเสบจนโป่งพองขึ้นมา ปวดหลังที่ทำให้ต้องเดินหลังค่อม และปวดตามเนื้อตาตัวที่เดินไม่กี่ก้าวก็ต้องหยุดพัก
"พยายามประหยัดทุกอย่าง เสื้อผ้านี่ก็มีคนให้มา อาหารการกินก็ซื้อมาทำกินเอง และตอนนี้กำลังเก็บเงินไปรักษายาย ซึ่งจวนจะครบแล้ว" ตาเล่ายิ้มๆ
ตากับยายจะออกทำงาน โดยจะหอบหิ้วกระสอบเก่าๆ ที่ข้างในใส่ปลาตะเพียนสานและนกสานไว้หลายสิบตัว ตระเวนไปขายปลาตะเพียนตามย่านที่มีคนพลุกพล่าน ไม่ว่าจะเป็นสวนจตุจักร สนามหลวง สีลม ประตูน้ำ รายได้แต่ละวันประมาณ 300-400 บาท
"ชีวิตไม่ลำบากเท่าไหร่ จะลำบากก็ตอนมีคนมาไล่ที่ เราก็แก่แล้ว ใครเขาให้ไปทางไหนก็ต้องไป ไม่อยากไปทะเลาะอะไรกับเขา" ยายบอก แล้วเล่าเหตุการณ์ความโชคร้ายที่เพิ่งผ่านพ้นมาไม่กี่วันว่า ถูกแก๊งมิจฉาชีพหลอกเอาเงินไปแล้วเอาไปปล่อยไว้ที่สะพานลอยเซ็นทรัล ลาดพร้าว
"วันนั้นอยู่คนเดียว ตากลับบ้านไปเอาข้าวให้ยายกิน ก็มีคนมาต้อนยายให้ขึ้นแท็กซี่ พอไปถึงหน้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว รถติดๆ เขาก็พาลงจากรถ แล้วคนมันเยอะๆ หันมาอีกทีเขาก็หายไปแล้ว พร้อมกับข้าวของและเงินที่ขายปลาตะเพียนได้" เล่าช้าๆ ก่อนน้ำเสียงจะขาดไปพักหนึ่ง จึงบอกต่อว่า
"เสียดายเงิน แต่ก็ไม่รู้จะไปเอาคืนจากเขาที่ไหน เรามันแก่แล้ว" ในน้ำเสียงไม่มีร่องรอยของความเสียใจ เหมือนกับว่า กำลังทำใจกับชะตาชีวิตที่ต้องมาประสบกับเหตุการณ์แบบนี้
"ความสุขทุกวันนี้คือ ขายของได้มีเงินไปซื้อข้าวกิน ดูแลลูก ดูแลหลาน ไม่เคยคิดอยากได้อะไร เพราะคิดแล้วเป็นทุกข์ ก็เลยไม่คิด แค่พออยู่ได้ก็ดีใจแล้ว" ยายทิพย์แก้วทิ้งท้าย
หากใครกำลังคิดว่า ตัวเองแย่แล้ว ลองดูชีวิตของ 2 ตายายคู่นี้ที่แม้จะลำบากเพียงไหนก็ยังยืนหยัดสู้ด้วยหัวใจที่ไม่ยอมแพ้