
ตาเหล่เทียมหรือแท้
หากคุณแม่สังเกตเห็นว่า ลูกน้อยของตัวเองมีอาการตาเหล่ อย่าเพิ่งรู้สึกกังวลใจค่ะ เพราะมีอาการตาเหล่เทียมด้วย คุณแม่รู้จักกันหรือเปล่าคะ ลองมาฟังคุณหมออธิบายกันค่ะ
พญ. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด กล่าวว่า อาการตาเหล่เทียม พบได้บ่อยในเด็กอายุ 2-3 เดือน ลักษณะอาจจะเหล่เข้าหรือออกได้ การที่ตาเหล่เข้าเป็นไปได้ว่าเด็กพยายามที่จะเพ่งมองสิ่งของใกล้ๆ เช่น มองมือตัวเอง หรือมองของเล่นที่แขวนไว้ ส่วนเด็กบางคนอาจมองดูเหมือนตาเหล่ เพราะหนังตาบริเวณหัวตากว้าง ทำให้บังตาขาวทางด้านหัวตา หรือเด็กบางรายหนังตาบนยกสูงไม่เท่ากัน ทำให้ดูตาโตไม่เท่ากัน แต่อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อตามีพัฒนาการดีขึ้น ยกเว้นรายที่หนังตาตกมากจนบังรูม่านตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์
อาการตาเหล่เทียมที่เกิดจากการวางตำแหน่งของเล่นผิดที่ เช่น เวลาที่เด็กมองของเล่นที่แขวน หรือโมบาย แก้ไขโดยปรับการแขวนใหม่ หาตำแหน่งที่เหมาะสม คือ แขวนไปทางปลายเท้าเด็กประมาณ 1 ฟุต หรือมากกว่านั้น แต่หากสงสัยว่าเด็กมีอาการตาเหล่จริงๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะหากทิ้งไว้นานอาจทำให้เด็กตาบอดเพราะไม่ได้ใช้งาน หรือที่เรียกว่า ตาขี้เกียจ
พญ. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
facebook.com/SuthiRaXeuxPhirocnKic