5 อาการวุ่น ที่ส่งผลกวนใจคุณแม่ท้อง

เว็บไซต์คันปาก โดนใจทุกคลิก

5 อาการวุ่น ที่ส่งผลกวนใจคุณแม่ท้อง

คุณแม่ตั้งครรภ์อาจจะมีอาการมากมายหลายอย่างที่มาทำให้คุณแม่วุ่นวายใจ ก่อกวนใจให้คุณแม่รู้สึกหงุดหงิดได้ง่ายกว่าปกติ เพราะเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย วันนี้เราจึงรวบรวม 5 อาการวุ่น ที่ส่งผลกวนใจคุณแม่มาฝากค่ะ จะได้ดูแลได้ถูกต้อง

1. อาการแพ้ท้อง 

                คุณแม่ท้องจะมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน เหม็น เบื่ออาหารหรือกินไม่ค่อยลง ส่วนใหญ่เป็นช่วง 3 เดือนแรก บางคนเท่านั้นที่จะเป็นถึงช่วงใกล้คลอด ดังนั้นควรกินอาหารครั้งละน้อยๆ พออิ่ม และเคี้ยวอาหารช้าๆ ให้ละเอียด เพื่อให้อาหารย่อยง่ายขึ้น หรืออาหารอ่อน ๆ เช่น นม น้ำซุป โจ๊ก ข้าวต้ม และจิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ หรือน้ำขิงอุ่น ๆ จะช่วยบรรเทาอาการและทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสีย จากการคลื่นไส้ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้คุณผ่อนคลายจากอาการ และรู้สึกดีขึ้น

2. ปัสสาวะบ่อย

                ช่วงเดือนแรก ๆ มดลูกมีการขยายตัวขึ้นไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะมีความจุน้อยลง จึงเกิดอาการอยากเข้าห้องน้ำบ่อยๆ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นมดลูกจะเริ่มพ้นเชิงกรานไป อาการที่เป็นก็จะน้อยลง และเป็นอีกรอบในช่วงใกล้คลอดเมื่อท้องเริ่มต่ำลง เรื่องที่ต้องใส่ใจให้มาก คือ ความสะอาด ถ้าปัสสาวะบ่อยร่วมกับมีอาการปวด แสบ หรือมีเลือดปนมากับปัสสาวะ ให้รีบพบคุณหมอ เพราะอาจเป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ

3. ท้องผูก 

                การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน มีผลต่อการยืดขยายตัวของกล้ามเนื้อทางเดินอาหาร ทำให้ระบบการย่อยทำงานช้าลง และเกิดอาการท้องผูก ที่สำคัญ ถ้าปล่อยให้เป็นนาน อาจทำให้เป็นริดสีดวงทวารได้ ควรกินอาหารที่ให้กากใยอย่างผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ถั่ว ธัญพืชชนิดต่าง ๆ ดื่มน้ำให้มากๆ เพราะน้ำ มีส่วนช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานสะดวก การดื่มน้ำมากขึ้น หรือกินน้ำลูกพรุนก็ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น

4. ตะคริว

                กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ทำให้รู้สึกปวด เช่น น่อง ปลายเท้า ได้บ่อยๆ เพราะเกิดจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำหรือการไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก ถ้าเป็นที่ต้นขา ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรง ยกเท้าขึ้นจากพื้นเล็กน้อยและกระดกปลายเท้าลงด้านล่าง ส่วนที่น่อง ใช้ผ้ายาว ๆ คล้องที่ปลายเท้า ดึงผ้าเข้าหาตัวให้ตึง ให้ปลายเท้ากระดกเข้าหาตัว หรือใช้หมอนรองขาเพื่อลดอาการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่อยู่ในท่าเดิมนานๆ การกินอาหารที่มีแคลเซียม ก็มีส่วนช่วยนะคะ เช่น นม ปลาตัวเล็ก ผักใบเขียว เป็นต้น

5. อาการบวมน้ำ เส้นเลือดขอด

                การคั่งของน้ำในเนื้อเยื่อมากกว่าปกติ ทำให้มีอาการบวมหลังเท้า และเรื่องเส้นเลือดขอด ที่เกิดจากมดลูกกดทับเส้นเลือดดำ มักเกิดบริเวณขา ก็เป็นอาการที่ทำให้แม่ตั้งครรภ์รู้สึกอึดอัด จะเดิน นั่ง ไม่คล่องตัวนัก เวลานั่งหรือนอน ยกเท้าสูงเล็กน้อย จะช่วยลดอาการลงได้ อย่านั่งหรือยืนนาน ไม่ใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าที่รัดแน่นเกินไป จะยิ่งทำให้อาการเป็นมากขึ้น หากแม่ท้องติดการปรุงอาหารรสเค็มจัด ต้องเลิกนะคะ เพราะเกลือทำให้ปริมาณโซเดียมสูงกว่าปกติ ยิ่งทำให้คุณแม่รู้สึกกระหาย ร้อนใน มีความเสี่ยงต่อการมีภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดอาการบวมได้

 

บทความแนะนำ

คุณแม่ตั้งท้องยิ่งต้องใส่ใจกระดูก

6 เคล็ดลับคลายร้อนให้กับลูกรัก

 

 

โดย : ทีมงานคันปาก
อัพเดท : 22-03-59, 17:06 น.
ที่มา :

dgsmartmom


แม่และเด็กล่าสุด
ดูข่าวแม่และเด็กทั้งหมด
นโยบายการใช้งาน
Copyright © 2015 KhanPak.com. All Rights Reserved.
ติดต่อเรา : 02-8779346, 086-3788812 (จ.-ส. เวลา 8.30-17.30)