
วิธีป้องกันโรคมือเท้าปาก ต้องทำอะไรบ้าง?
หากมีเด็กในปกครองป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ผู้ปกครองควรหมั่นเช็ดตัวผู้ป่วยเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำ หรือน้ำผลไม้ รวมทั้งให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มาก ๆ และหากผู้ป่วยเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้เด็กแทนการให้เด็กดูดนม เพื่อลดอาการปวดแผลในปาก
อย่างไรก็ตาม แม้โดยมากแล้วอาการของโรคมือเท้าปากจะไม่รุนแรงและหายเองได้ แต่ผู้ปกครองควรใส่ใจอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยหากพบว่ามีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร อาเจียนบ่อย หอบ อ่อนแรง และชัก ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะผู้ป่วยอาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
วิธีป้องกันโรค ดังนี้
1. แยกผู้ป่วยที่เป็นโรค เพื่อป้องกันเด็กป่วยไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น
2. เด็กและผู้ใหญ่ทุกคนควรหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
3. หมั่นทำความสะอาดของเล่น ของใช้ของเด็กทุกชิ้น โดยการทำความสะอาดด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาชะล้างทำความสะอาดทั่วไป หลังจากนั้นควรเช็ดอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ให้แห้งสนิท
4. ระมัดระวังสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม อาหาร รวมทั้งของใช้ทุก ๆ อย่างที่เด็กอาจหยิบเข้าปากได้
5. ไม่ควรให้เด็กเล่นของเล่น หรือใช้ของที่ปนเปื้อนน้ำลาย หากเป็นไปได้ไม่ควรให้เด็กใช้ของใช้ร่วมกัน
6. ควรสอนให้เด็ก ๆ ฝึกนิสัยกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
7. ทางโรงเรียนไม่ควรให้เด็กที่ป่วยโรคมือเท้าปากมาโรงเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติดี ซึ่งส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
8. ผู้ปกครองไม่ควรให้บุตรหลานที่ป่วยไปโรงเรียนจนกว่าจะรักษาอาการจนหายสนิท เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
9. ควรระวังการปนเปื้อนของเชื้อในอุจจาระต่ออีกนาน เนื่องจากเชื้อยังคงหลงเหลืออยู่ในอุจจาระได้อีกนานหลายสัปดาห์ ดังนั้นควรล้างมือหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือดูแลบุตรหลานให้ทำความสะอาดห้องน้ำและล้างมือหลังทำธุระเสร็จเรียบร้อยด้วยสบู่ เนื่องจากการใช้เจลทำความสะอาดไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัสได้
10. ในช่วงที่มีการระบาดของโรค ไม่ควรปล่อยให้บุตรหลานอยู่ในที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันมาก ๆ เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสจากเด็กคนอื่น
Photo credit: msn.com
บทความแนะนำ
เรื่องเตือนใจ อันตรายของโรคมือเท้าปาก
“ไวรัสโรต้า” โรควายร้ายทำลายลูกน้อย...
health.kapook