
5 ความเชื่อกับการเลี้ยงลูก แบบนี้ผิดจริงหรือ...
สุขภาพของลูกใช้ความเชื่อไม่ได้ การเลี้ยงลูกจากอดีต ถึงปัจจุบันมีบางเรื่องต้องอาศัยภูมิปัญญาของคนเฒ่าคนแก่ แต่บางเรื่องก็ไม่สามารถเชื่อได้ เพราะไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ค่ะ
1.ปัสสาวะกวาดลิ้น รักษาลิ้นเป็นฝ้าของลูก
ในปัสสาวะมีสารยูเรีย และอาจปนเปื้อนเชื้ออย่างอื่น แพทย์จึงไม่แนะนำให้ใช้ปัสสาวะกวาดลิ้น การที่ลูกน้อยเป็นฝ้าขาว สามารถป้องกันได้ ด้วยการเช็ดความความสะอาดลิ้นใช้ผ้าสะอาด หรือผ้ากล๊อซ ชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว หรือ น้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์ เช็ดถูบริเวณเหงือกและลิ้นวันละ 2- 3 ครั้งช่วยป้องกันลิ้นเป็นฝ้าได้ หรือในเด็กที่เป็นฝ้าขาวที่ลิ้นแล้วสามารถใช้ยาทาแผนปัจจุบันทารักษาให้หายขาดได้
2.ลูกคิ้วโก่ง จากกานพลู ดกดำจากอัญชัน
คิ้วโก่งหรือดกดำได้จากพันธุกรรม คิ้วโก่งจากการขีด เขียน วาด จากกานพลู ไม่เป็นเรื่องจริง แต่ดอกอัญชัน นักวิทยาศาสตร์ พิสูจน์พบว่ามีสารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) ช่วยกระตุ้นการงอกของขน ผม และดกดำได้จริง แต่ต้องทำความสะอาดอย่างดีก่อนนำไปใช้กับทารก เพราะเสี่ยงต่อการแพ้ได้ หากต้องการให้ผมดกดำแพทย์แนะนำให้บำรุงด้วยสารอาหารเมื่ออายุ 6 เดือน ได้แก่อาหารกลุ่มเมล็ดธัญพืช
3.ดัดขาให้ลูกตั้งแต่แรกเกิดถ้าไม่ดัดขาจะโก่งหรือเลี้ยงแพมเพิสขาจะโก่ง
ขาของลูกจะโก่งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์และโครงสร้างของกระดูก ตามสรีระกระดูกของเด็กแรกเกิดจะมีลักษณะโก่งเป็นธรรมชาติ เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกขาจะได้รูปและตรงเป็นปกติ แต่ในทางกลับกัน หากดัดบ่อยๆ จากกระดูกที่ตรงอยู่แล้วอาจผิดรูปได้ การสวมใส่แพมเพิสไม่ได้ส่งผลต่อสรีระของกระดูกแต่อย่างใด จึงไม่มีผลตามที่หลายคนกล่าวอ้าง
4.ป้อนข้าว ป้อนน้ำก่อน 6 เดือน
คุณย่าคุณยายจับเด็กๆกินข้าว กินกล้วย เพราะความรักความเป็นห่วงใย( ที่ไม่ถูกต้อง ) อยากให้ลูกหลานโตเร็วๆ โดยมีคำกล่าวเสมอๆ ว่า ก็เลี้ยงมาแบบนี้ตั้งแต่สมัยโน้นไม่เห็นเป็นอะไร หากเราย้อนทบทวนกลับไปเมื่อ 30 – 40 ปีที่แล้ว สถิติการเสียชีวิตของเด็กอ่อน ไม่ทราบสาเหตุมีจำนวนมากเนื่องจากเครื่องไม้เครื่องมือไม่ทันสมัย มาโรงพยาบาลด้วยอาการท้องโต ท้องบวม หรือตายที่บ้านก็มากมาย ปัจจุบันการแพทย์พัฒนามากขึ้น พบสถิติเด็ก 1 – 4 เดือนกระเพาะอาหารทะลุ กระเพาะแตกก็มากมาย เพราะระบบย่อยอาหารยังไม่พร้อม กุมารแพทย์แนะนำ ป้อนอาหารเสริมมื้อแรก เมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไปจะดีที่สุด
5.งัดดั้งได้ ยิ่งบีบยิ่งโด่ง
จมูกโด่งหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์อีกแล้วค่ะ ผิวหนังและกล้ามเนื้อบริเวณสันจมูกของลุกน้อยค่อนข้างบาง หากถูกจับบ่อยๆ อาจบอบช้ำ และอักเสบ กุมารแพทย์เผย ทารกแรกเกิดมาพบแพทย์ด้วยเนื้อเยื้อบริเวณสันจมูกอักเสบติดเชื้อจากแม่พยายามบีบ เพราะฉะนั้นอย่าทำเลยค่ะ เพราะเป็นการทรมารลูกน้อยของคุณด้วยมือคุณเอง หากลูกจมูกไม่ได้รูปจริง สามารถแก้ไขจุดบกพร่องได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในช่วงอายุที่เหมาะสม
Photo credit: pixabay.com
บทความแนะนำ
6 ความเชื่อเกี่ยวกับลูกน้อย ที่คุณแม่อาจไม่เคยรู้
ความเชื่อสุขภาพของลูกน้อย คุณแม่ควรรู้...
mamaexpert