
โรคอันตรายในหน้าฝน ที่พ่อแม่ควรสังเกตอย่างใกล้ชิด...
เป็นโรคที่มักพบการติดเชื้อในกลุ่มทารกและเด็กเล็ก แต่บางรายจะมีอาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 5 ปี มีอาการไข้ร่วมกับตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เอง ส่วนน้อยอาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้รุนแรงถึงเสียชีวิตได้
สาเหตุของโรค “มือเท้าปาก”
เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มใหญ่ชื่อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มย่อยมากมาย เช่น ค็อกซากี เอ (coxsackie A) หรือ ค็อกซากี บี (coxsackie B) ซึ่งจะมีสายพันธุ์ย่อยที่มีชื่อต่อท้ายด้วยตัวเลขต่างๆ ในประเทศไทยเชื้อที่เป็นต้นเหตุซึ่งพบบ่อยที่สุดคือ ค็อกซากี เอ 16 นอกจากนี้ยังมีตัวที่พบบ่อยมากขึ้นคือ ค็อกซากี เอ 6 รวมถึงเอนเทอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 โดยเชื้อที่ระบาดมากในแต่ละช่วงของทุกๆ ปีจะแตกต่างกัน
กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง
มักเกิดมากในเด็กอนุบาล มีการติดต่อทางน้ำลาย เช่น เด็กคนหนึ่งเป็นโรคนี้แล้วจับของเล่น หรือป้ายนํ้าลายไปถูกเพื่อนก็จะติดได้
อาการ
อาการคล้ายไข้หวัด มีไข้ประมาณ 2-4 วัน มีแผลในปาก มีผื่นขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า บางคนอาจมีผื่นลามถึงแขนและขา หรือก้น ผื่นที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ ส่วนมากหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์หากไม่มีอาการแทรกซ้อน
การป้องกันโรคมือเท้าปาก
“สุขอนามัยที่ดี” คือคำตอบ ควรปลูกฝังสุขอนามัยที่ดีให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก ให้ทำจนชินเป็นนิสัย ไม่ใช่ทำเฉพาะช่วงที่คนในครอบครัวป่วยเท่านั้น เช่น ให้พี่โตล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนจะมาเล่นกับน้องวัยทารก เมื่อเล่นเสร็จก็ล้างมืออีกครั้ง แยกภาชนะ เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม เครื่องใช้ส่วนตัวออกจากกัน ทำความสะอาดของเล่นที่พี่น้องชอบแบ่งกันเล่นบ่อยๆ หากทุกบ้านทำได้แบบนี้ก็จะลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคต่างๆ ให้คนในครอบครัวเดียวกันไปได้มาก
Photo credit: bumrungrad.com
บทความแนะนำ
วิธีป้องกันโรคมือเท้าปาก ต้องทำอะไรบ้าง?
โรคเท้าปุกในเด็ก เกิดจากสาเหตุอะไร?
amarinbabyandkids