เลือกกินสักนิดก็จะพ้นภัยจากโรค

เว็บไซต์คันปาก โดนใจทุกคลิก

เลือกกินสักนิดก็จะพ้นภัยจากโรค

เมืองไทยเป็นเมืองที่มีอาหารอาหารติดอันดับ Top ของโลก มีอาหารขายข้างถนนเยอะ แถมอร่อยด้วย บางร้านอาจจะสะอาดบางร้านอาจจะไม่สะอาด เราก็ควรเลือกดูอย่างละเอียดเพื่อสุขภาพของเราเอง ถ้าเราไม่เลือกกินมั่วๆก็อาจจะทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ อารเป็นพิษ ในที่นี้หมายถึง อาการท้องเดิน (อุจจาระร่วง) เนื่องจากการกินอาหารที่มีสารพิษที่เกิดจากเชื้อโรคปนเปื้อน เป็นสาเหตุของอาการท้องเดินที่พบได้บ่อยในหมู่คนทั่วไป ส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรง และทุเลาได้เองภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมง สามารถให้การดูแลรักษาอย่างง่ายๆ ด้วยการทดแทนน้ำและเกลือแร่ด้วยสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ส่วนน้อยที่อาจรุนแรง จนต้องให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาล

 

สาเหตุ 
มีเชื้อโรคหลายชนิดที่สามารถปล่อยสารพิษ (toxin) ออกมาปนเปื้อนในอาหารต่างๆ เช่น น้ำดื่ม เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ ไข่ นม อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์จากนม เนยแข็ง ข้าว ขนมปัง สลัด ผัก ผลไม้ เป็นต้น
เมื่อคนเรากินอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษดังกล่าว ก็จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน
สารพิษหลายชนิดทนต่อความร้อน ถึงแม้จะปรุงอาหารให้สุกแล้ว สารพิษก็ยังคงอยู่และก่อให้เกิดโรคได้
ระยะฟักตัวขึ้นกับชนิดของเชื้อโรค บางชนิดมีระยะฟักตัว ๑-๘ ชั่วโมง บางชนิด ๘-๑๖ ชั่วโมง บางชนิด ๘-๔๘ ชั่วโมง

อาการ
อาหารเป็นพิษจากเชื้อโรคต่างๆ จะมีอาการคล้ายๆ กัน คือ ปวดท้องในลักษณะปวดบิดเป็นพักๆ อาเจียน (ซึ่งมักมีเศษอาหารที่เป็นต้นเหตุออกมาด้วย) และถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง บางรายอาจมีไข้และอ่อนเพลียร่วมด้วย
โดยทั่วไป ถ้าเป็นไม่รุนแรง อาการต่างๆ มักจะหายได้เองภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมง บางชนิดอาจนานถึงสัปดาห์
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจอาเจียนและท้องเดินรุนแรง จนร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรงได้
อาจพบว่า ผู้ที่กินอาหารร่วมกันกับผู้ป่วย (เช่น งานเลี้ยง คนในบ้านที่กินอาหารชุดเดียวกัน) ก็มีอาการแบบเดียวกับผู้ป่วยในเวลาไล่เลี่ยกัน

การดูแลตนเอง
ในผู้ใหญ่และเด็กโต

๑. ถ้าปวดท้องรุนแรง ถ่ายท้องรุนแรง (อุจจาระเป็นน้ำครั้งละมากๆ) อาเจียนรุนแรง (จนดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือน้ำข้าวต้มไม่ได้) เมื่อลุกขึ้นนั่งมีอาการหน้ามืดเป็นลม หรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรง (ปากแห้ง คอแห้ง ตาโบ๋ ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว) ต้องไปหาหมอโดยเร็ว
๒. ถ้าไม่มีอาการดังข้อ ๑ ให้ปฏิบัติดังนี้
๒.๑ ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ อาจใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ ชนิดสำเร็จรูปที่มีขายในท้องตลาด หรืออาจผสมเองโดยใช้น้ำสุก ๑ ขวดกลมใหญ่ (๗๕๐ มล.) ใส่น้ำตาลทราย ๓๐ มล. (เท่ากับช้อนยาเด็ก ๖ ช้อน หรือช้อนกินข้าวชนิดสั้น ๓ ช้อน) และเกลือป่น ๒.๕ มล. (เท่ากับช้อนยาครึ่งช้อน หรือช้อนยาวที่ใช้คู่กับซ่อมครึ่งช้อน)
พยายามดื่มบ่อยๆ ครั้งละ ๑ ใน ๓ หรือครึ่งแก้ว (อย่าดื่มมากจนอาเจียน) ให้ได้มากพอกับที่ถ่ายออกไป โดยสังเกตปัสสาวะให้ออกมากและใส
๒.๒ ถ้ามีไข้ ให้ยาลดไข้-พาราเซตามอล
๒.๓ ให้กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก งดอาหารรสเผ็ดและย่อยยาก งดผักและผลไม้ จนกว่าอาการจะหายดีแล้ว
๒.๔ ห้ามกินยาเพื่อให้หยุดถ่ายอุจจาระ
๓. ควรรีบไปหาหมอ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
- อาเจียนมาก ถ่ายท้องมาก กินไม่ได้ หรือดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ไม่ได้ หรือได้น้อย จนมีภาวะขาดน้ำค่อนข้างรุนแรง
- มีอาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือดตามมา
- มีอาการหนังตาตก ชารอบปาก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจลำบาก
- อาการไม่ทุเลาภายใน ๔๘ ชั่วโมง
- มีอาการเรื้อรัง หรือน้ำหนักลดฮวบฮาบ
- สงสัยเกิดจากสารพิษ เช่น สารเคมี พืชพิษ สัตว์พิษ
- สงสัยเกิดจากอหิวาต์ เช่น สัมผัสผู้ที่เป็นอหิวาต์ หรืออยู่ในถิ่นที่กำลังมีการระบาดของโรคนี้ (มักเกิดในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน)

ในเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า ๕ ขวบ)
๑. ถ้าดื่มนมแม่อยู่ ให้ดื่มนมแม่ต่อไป (ถ้าดื่มนมผสมอยู่ ให้ชงเจือจางเท่าตัวและดื่มต่อไป) และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือน้ำข้าวต้มใส่เกลือเพิ่มเติม เมื่อมีอาการดีขึ้น ให้กินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย (เช่น ข่าวต้ม) ไม่ต้องให้ยาที่ใช้แก้ท้องเดินชนิดใดทั้งสิ้น
๒. ถ้าถ่ายท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง ดื่มนมหรือน้ำไม่ได้ ซึม กระสับกระส่าย ตาโบ๋ กระหม่อมบุ๋มมาก (ในเด็กเล็ก) หายใจหอบแรง หรืออาการไม่ดีขึ้นใน ๒๔ ชั่วโมง ต้องไปหาหมอโดยเร็ว

การรักษา
แพทย์จะให้การรักษา ตามความรุนแรงของโรคดังนี้
๑. ถ้ารุนแรงไม่มาก ยังกินได้ และขาดน้ำไม่มาก (ลุกเดินได้ ไม่หน้ามืด) ก็จะให้การรักษาตามอาการและให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (แบบเดียวกับที่แนะนำในหัวข้อ “การดูแลตนเอง”)
๒. ถ้ารุนแรง ถึงขั้นขาดน้ำรุนแรง (มีอาการใจหวิว ใจสั่น จะเป็นลม มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อยมาก) หรืออาเจียนรุนแรง ถ่ายรุนแรง หรือกินไม่ได้ ก็จะต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ จนกว่าจะทุเลา
๓. ถ้าสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะในรายที่พบว่าเป็นบิดชิเกลล่า หรืออหิวาต์ เป็นต้น

การป้องกัน
๑. ดื่มน้ำสะอาด
๒. ควรล้างมือก่อนเปิบข้าวและหลังถ่ายอุจจาระ
๓. กินอาหารที่สุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม (แม้ว่าอาจป้องกันอาหารเป็นพิษจากเชื้อโรคบางชนิดไม่ได้ แต่ก็สามารถป้องกันการเกิดท้องเดินจากการติดเชื้ออื่นๆ เช่น บิด อหิวาต์)

โดย : ทีมงานคันปาก
อัพเดท : 30-08-60, 14:56 น.
แท็ก :
ที่มา :

เพจหมอชาวบ้าน


สุขภาพล่าสุด
ดูข่าวสุขภาพทั้งหมด
นโยบายการใช้งาน
Copyright © 2015 KhanPak.com. All Rights Reserved.
ติดต่อเรา : 02-8779346, 086-3788812 (จ.-ส. เวลา 8.30-17.30)